กระดูกสันหลังคด เกิดจากอะไร

กระดูกสันหลังคดเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

1. กระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุ พบในเด็กที่กระดูกสันหลังมีความผิดปกติ โดยมีความคดมากน้อยแตกต่างกัน อาจสังเกตเห็นด้วยตาจากลักษณะภายนอกหรืออาศัยการเอกซเรย์ มีความเสี่ยงในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

วิธีการรักษา แพทย์จะพิจารณาจากอายุ มุมของกระดูกสันหลังที่คด ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะกระดูกหยุดเจริญแล้วหรือยัง เพื่อดูโอกาสของกระดูกสันหลังที่จะหยุดคดเพิ่ม เช่น ผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือน โดยแพทย์จะทำการตรวจเอกซเรย์เพื่อ วัดมุมการคด (ค่ามุมการคด) ที่จำเป็นต้องรักษา

โดยการพิจารณาการรักษาจะทำเพื่อป้องกันภาวะกระดูกคดไม่ให้เพิ่มขึ้น หรือแก้ไขภาวะคดจะทำในกรณีที่ประเมินแล้วพบว่า กระดูกยังไม่หยุดเจริญ ถ้าหากปล่อยไว้กระดูกสันหลังจะคดเพิ่มขึ้นจนมีค่ามุมเกินค่าที่ยอมรับได้ และแก้ไขในกรณีค่ามุมการคดเกินกว่าค่าที่ยอมรับได้ (โดยไม่ต้องดูอายุ) ในบางกรณีมุมการคดไม่มาก แต่ต้องการผ่าตัดอาการคดเพื่อความสวยงาม อาจเริ่มการรักษาโดยไม่ผ่าตัดในกรณีผู้ป่วยอายุน้อยสามารถสวมกายอุปกรณ์คัดลำตัว แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีมุมการคดมาก จำเป็นต้องเลือกการผ่าตัดเพื่อแก้ไขการคด เชื่อมกระดูกสันหลัง และดามโลหะ

2. กระดูกสันหลังคดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง จะมีอาการกระดูกสันหลังคดตั้งแต่เด็ก แต่จะรุนแรงมากกว่าและมีอาการทางระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย โดยผู้ที่มีความเสี่ยงคือผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นกระดูกคด แต่ก็สามารถเกิดในรายที่ไม่มีประวัติครอบครัวได้เช่นกัน

วิธีการรักษา เนื่องจากกระดูกสันหลังคดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง มีความซับซ้อนในการรักษามาก แพทย์ส่วนใหญ่จำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไข เพื่อลดภาวะความผิดปกติของระบบประสาท

3. กระดูกสันหลังคดจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง พบมากในผู้สูงอายุที่มีภาวะข้ออักเสบ ข้อกระดูกหลังเสื่อม กระดูกพรุน

วิธีการรักษา แพทย์จะทำการแก้ไขภาวะกระดูกคดร่วมกับแก้ไขภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น การกดทับรากประสาท

การป้องกันกระดูกสันหลังคอทำได้หรือไม่อย่างไร

การป้องกันกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุ และกระดูกสันหลังคดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางจะไม่สามารถป้องกันได้ เพียงแต่แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ ได้ ดังนั้นหากสังเกตเห็นโดยเร็วจะส่งผลดีต่อการรักษา ส่วนกระดูกสันหลังคดจากความเสื่อมของกระดูกสันหลังนั้น การป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังเสื่อมที่ดีที่สุดคือ ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ใช้หลังและกระดูกสันหลังในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม รวมถึงป้องกันภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงวัย